น้อง: เมื่อไหร่จะมาหาที่ทำงานอีก
เรา: ทำไม เบื่องานแล้วเหรอ
น้อง: เปล่าแค่รู้สึกว่างานนี้คงยังไม่ใช่อ่ะ
ข้อความที่รุ่นน้องจากบริษัทเก่าส่งมาหา ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าน้องคงจะเริ่มเบื่องานอีกแล้ว คุณเองก็คงมีประสบการณ์หลายครั้งที่ต้องคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับรุ่นน้อง โดยเฉพาะถ้าเป็น HR ผู้ขึ้นชื่อว่าเข้าใจคนและเป็นห่วงความสุขของคนในองค์กรแล้ว คุณคงได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาจำเป็นแบบนี้บ่อยๆ
เป็น HR สมัยนี้ต้องเป็นครูแนะแนวไปด้วย?
จากการสำรวจกับนักศึกษามหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพจำนวน 400 คน CareerVisa พบว่ามีนักศึกษามากกว่า 50% ที่ไม่มีเป้าหมายอาชีพ…
ฟังเรื่องราวจากรุ่นพี่ HR ของบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เจอบ่อยมากกับน้องๆจบใหม่ที่โทรมาหาพี่ที่บริษัท เหมือนอยากจะสมัครงาน แต่มีคำถามพื้นฐานเยอะมาก ‘พี่ครับตกลงตำแหน่งนี้ทำอะไรบ้าง.. พี่ครับแล้วพี่คิดว่างานนี้จะเหมาะกับผมรึเปล่า’ ดูเหมือนน้องๆจะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องตัวงาน แถมไม่ได้ค้นคว้ามาก่อนเลย
ที่หนักกว่านั้นน้องดูไม่รู้จักตัวเองซะด้วยซ้ำ
เด็กรุ่นใหม่อยากจะออกไปแตะขอบฟ้า หางานที่ใช่…’พี่ครับผมอยากจะขอเวลาไปค้นหาตัวเองก่อน’ เป็นประโยคเด็ดที่ได้ยินกันตลอดเวลา ทำให้เรากลับมาคิดว่า เป็นอะไรกัน ทำไมเด็กรุ่นใหม่หาตัวเองไม่เจอ
เกิดอะไรขึ้นกับเด็กสมัยนี้?
มาลองฟังความคิดเห็นจากนักเขียนและผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Leadership อย่าง Simon Sinek ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Inside Quest เขามาตอบคำถามว่าทำไมชาว Millennials ถึงมีความคิดที่แตกต่างจากคน Generation ก่อน
Millennials… are tough to manage, …accused to be entitled, narcissistic, self-interested, unfocused, lazy, …
เกิดอะไรขึ้นกับเด็กสมัยนี้?
เกิดมาพร้อมพ่อแม่ผู้ปกป้อง-ไม่ใช่ผู้ปกครอง
ถ้าคุณคิดว่าเด็กสมัยนี้นิสัยเสีย เราอยากจะขอให้ย้อนกลับมาดูวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาเป็น ‘เด็กพิเศษ’ โดยไม่ต้องทำอะไรมากมากกว่า
สมัยก่อน: ถ้าคุณไปโรงเรียน แล้วไม่ทำการบ้าน มีหวังคุณได้เจอกับไม้เรียวจากครูไหวใจร้ายอย่างแน่นอน
สมัยนี้: ไม่ส่งการบ้าน แล้วไง ? หักคะแนน ถ้าโดนหักคะแนนมากๆพ่อแม่ของคุณก็จะไปต่อว่าคุณครูที่โรงเรียนว่าปล่อยให้เด็กตกได้ยังไง ที่ชัดเจนมากกว่านั้นอยากให้สังเกตวัฒนธรรมการเรียนพิเศษ พ่อแม่สมัยนี้ไปส่งคุณลูกถึงประตูโรงเรียนติวเตอร์ แล้วนอกจากนั้นยังนั่งเฝ้าอีกด้วย! คุณลูกแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ตั้งใจเรียนอย่างเดียว
ผลกระทบ: ถอดใจบอกลา’งานในฝัน’ไปง่ายๆ เมื่อต้องมารับ Feedback จากเจ้านายในที่ทำงานและพ่อแม่ก็ไม่ตามมาแก้สถานการณ์ให้แล้ว เพราะในวัยเด็กพวกเขาไม่เคยต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง หรือแม้แต่การกระทำของตัวเองเลย ขอให้เรียนอย่างเดียวเป็นพอ ทำให้พวกเขาเติบโตมาขาดทักษะการเข้าใจตัวเอง นอกจากนั้นยังทำให้ภูมิคุ้มกันความล้มเหลวของเขาต่ำลงอีกด้วย
เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีรายล้อม…ได้ทุกอย่างทันใจทันที
เพราะทุกอย่างในยุคนี้สั่งได้แค่เพียงปลายนิ้ว …
สมัยก่อน: มีโจทย์คำถาม คุณต้องทำรายงาน คุณเดินเข้าห้องสมุดช่วงพักกลางวัน ต้องไปค้นเลขในระบบดิวอี้ จำเลข เดินหาชั้น หยิบหนังสือมาอย่างต่ำ 3 เล่ม แล้วมานั่งอ่าน สรุปใจความ แล้วค่อยพิมพ์รายงาน
สมัยนี้: มีโจทย์คำถามต้องทำรายงาน คุณเปิด Google คุณพิมพ์ปั๊บ ได้คำตอบปุ๊บ
ผลกระทบ: หาอาชีพที่ใช่ไม่เจอ เพราะการจะเข้าใจได้ว่าตัวเองชอบอะไรคุณต้องลงมือทำและสังเกตตัวเอง แต่เมื่อสังคมทุกวันนี้เราเร่งจะไปให้ถึงจุดหมาย ถึงคำตอบอย่างเดียว เด็กๆจึงไม่เข้าใจคุณค่าของ ‘กระบวนการ’ และการใช้เวลาใน ‘การสร้างอาชีพที่ใช่’ ในเมื่อทุกอย่างได้ง่ายโดยพริบตา ฉันจบปุ๊บ ฉันก็จะเป็น Manager ปั๊บได้เหมือนกัน ที่จริงฉันเป็น CEO ยังได้เลย ทำไมจะต้องเสียเวลาลงมือทำด้วยล่ะ
ถามว่าเด็กสมัยนี้ผิดตรงไหน พวกเขาไม่ผิด แต่พวกเขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไปจากผู้ใหญ่ในองค์กร หลายๆครั้งที่พวกเขาบอกเราตรงๆว่า อยากไปแตะขอบฟ้า ชีวิตออฟฟิศคงรั้งพวกเขาไว้ไม่ได้แล้ว เราได้ฟังเขาดีๆรึยังคะว่าเขาต้องการอะไรกันแน่
Comments